หน้าเว็บwww.blogger.com/prae003

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550

สาระสำคัญของร่างพรบ.สภาองค์กรชุมชน

สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....
...............................
ความนำ
เนื่องจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชน และการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ตลอดจนภาระด้านงบประมาณของรัฐ จึงได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามข้อเสนอของที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๒ และวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยที่ประชุมมีมติให้สภาองค์กรชุมชนเป็นสภาภูมิปัญญาที่มีพลังทางสังคม เป็นสภาคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือ/กระตุ้นให้องค์กรของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรองรับสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งเสนอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นฝ่ายวิชาการและเลขานุการของสภานั้นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ต่อมาจึงได้นำเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่ยังได้รับการโต้แย้งจากกระทรวงมหาดไทยในประเด็นอาจขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ปัจเจกชนมีสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ มิใช่สิทธิขององค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะและอาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คณะรัฐมนตรีจึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความสอดคล้องในทุกๆ ด้านแล้วจัดทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

สรุปสาระของร่างพระราชบัญญัติ
๑. หลักการและเหตุผล
ชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ
๒. วัตถุประสงค์
สภาองค์กรชุมชนให้มีลักษณะเป็นสภาทางภูมิปัญญาเพื่อให้มีอำนาจทางสังคมแทนอำนาจทางกฎหมาย เป็นสภาคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือ/สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อให้เป็นสภาที่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นโดยการระดมพลังทางปัญญาเกี่ยวกับส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นด้วยคนในชุมชนของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน
๒. เพื่อให้มีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๓. เพื่อผนึกกำลังและประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน
๔. สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และรองรับสิทธิตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....ในประเด็นสิทธิชุมชน และสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ตลอดจนแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

๓. นิยามศัพท์ตามกฎหมาย
“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน
“องค์กรชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีระบบการจัดการที่สมาชิกของชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนนั้น
“สภาองค์กรชุมชน” หมายความว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล สมาชิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสมาชิกสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี
“สมัชชาชุมชน” หมายความว่า การประชุมใหญ่ของภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพในชุมชน ซึ่งดำเนินการโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี

๔. โครงสร้างเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมาย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. .... ที่ได้ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย ๕ หมวด ๓๘ มาตรา สรุปได้ ดังนี้
๑. หมวด ๑ สภาองค์กรชุมชนตำบล (ร่างมาตรา ๑๙) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยประกอบด้วยสมาชิกสภาซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรในหมู่บ้านด้วยการเลือกกันเองของที่ประชุมใหญ่ในหมู่บ้านตามความเหมาะสม และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาโดยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ต่างๆ เช่น ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนในเขตพื้นที่ตำบล เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองรวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต การเมืองและสิ่งแวดล้อม จัดให้มีเวทีสมัชชาชุมชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนทุกระดับเกิดความเข้มแข็งจนสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสิทธิชุมชนและแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
๒. หมวด ๒ สภาองค์กรชุมชนจังหวัด (ร่างมาตรา ๒๕) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมองภาพรวมในระดับจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกสภาชุมชนท้องถิ่นตำบลๆละไม่เกินสองคน และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาด้วยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่น การเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดทำแผนชุมชนระดับจังหวัด และให้ความเห็น ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่างๆในระดับจังหวัด
๓. หมวด ๓ สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ (ร่างมาตรา ๓๐ ) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมองภาพรวมมากกว่าหนึ่งจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัดๆละสองคน และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาด้วยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ โดยมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้สภาองค์กรชุมชนทุกระดับ การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและการเมือง รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
๔. หมวด ๔ การส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน (ร่างมาตรา ๓๓) โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัดและสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ และรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของสภาองค์กรชุมชน
๕. หมวด ๕ การยุบและการเลิกสภาองค์กรชุมชน(ร่างมาตรา ๓๕และมาตรา ๓๖)
๑. การยุบสภาองค์กรชุมชน ในกรณีปรากฏว่าสภาองค์กรชุมชนแห่งใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ อันก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติ ให้สภาองค์กรชุมชนจังหวัดมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนตำบล หรือให้สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ โดยจัดให้มีการเลือกกันเองใหม่หรือเสนอชื่อสมาชิกคนใหม่ภายในหกสิบวัน
๒. การเลิกสภาองค์กรชุมชน ในกรณีปรากฏว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลมีสมาชิกน้อยกว่าร้อยละหกสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน ให้มีการจัดประชุมสมัชชาชุมชนทั้งตำบลมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุมให้เลิกสภาองค์กรชุมชนตำบลแห่งนั้นได้ หรือกรณีสภาองค์กรชุมชนจังหวัดมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าร้อยละสามสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนให้สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติสั่งเลิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือกรณีสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าร้อยละสามสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนให้คณะรัฐมนตรีสั่งเลิกสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติได้ และให้มีการเพิกถอนการรับรองสถานภาพของสภาองค์กรชุมชนแห่งนั้นโดยไม่ชักช้า
๖. บทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา ๓๗และมาตรา ๓๘) ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสภาชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ ให้มีคณะกรรมการจัดตั้งสภาชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดในกรณีที่ยังไม่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนจังหวัด

----------------------------------------------

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

พรบ. ฉบับที่กล่าว มา เป็น ฉบับ พ.ศ. อะไรคะ

Unknown กล่าวว่า...

พรบ. ฉบับที่กล่าว มา เป็น ฉบับ พ.ศ. อะไรคะ