หน้าเว็บwww.blogger.com/prae003

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550

12 ปัญหาสภาองค์กรชุมชน...ที่นี่มีคำตอบ

1. สภาองค์กรชุมชนคืออะไร?

สภาองค์กรชุมชน หมายถึง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนของสถาบันในชุมชนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย เป็นต้น ตัวแทนของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโรงสีรวม กลุ่มอนุรักษ์ป่า และกลุ่มกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน โดยมีผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รู้ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำทางการได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนท้องถิ่น เข้ามาร่วมใช้เวทีพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เป็นระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ตัวอย่างของจัดการตนเองในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชน เช่น สภาซูลอ สภาผู้นำตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาผู้นำของตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษเป็นต้น

2. พรบ.สภาองค์กรชุมชน มีความเป็นมาอย่างไร

การร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนฉบับนี้ เริ่มจากกลุ่มคนทำงานทางสังคมจำนวนหนึ่ง พยายามค้นหาทางออก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ โดยอาศัยบทเรียนประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศมาเป็นหลักคิด และใช้เป็นแนวทางการยกร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชนฉบับนี้ รวมทั้งได้มีการระดมความคิดเห็นผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 10 เวทีทั่วประเทศ ซึ่งพอสรุปขั้นตอนกระบวนการร่าง พรบ.ได้ดังนี้
1. การสรุปบทเรียน ประชาธิปไตยชุมชน...การเมืองสมานฉันท์ โดยองค์กรชุมชนร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม 2550
2. การจัดเวทีสังคมสนทนา “การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๙
3. ยกร่างหลักคิดและเนื้อหาสาระ พรบ.สภาองค์กรชุมชน ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จาก หนังสือ “ต้นทางชุมชน ชุมชนประชาธิปไตย” จัดพิมพ์โดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม , ๒๕๔๙ และ หนังสือ “องค์กรชุมชนกับการปฏิรูปสังคมและการเมือง” จัดพิมพ์โดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม , ๒๕๔๙
4. เวทีระดมความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน จากคณะกรรมการศูนย์แก้ไขปัญหาความยากจนภาคประชาชน (ศตช.ปชช.) ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรุงเทพฯ , ๒๕๔๙
5. เวทีระดมความคิดเห็นผู้นำองค์กรชุมชน ๔ ภาค ณ โรงแรมดีลักซ์ กรุงเทพฯ , ๑ ธ.ค.๒๕๔๙
6. เวทีระดมความคิดเห็นคณะทำงานร่างพรบฯ สภาองค์กรชุมชน ณ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กรุงเทพฯ , ๒๕๔๙
7. เวทีระดมความคิดเห็นคณะทำงานที่ปรึกษากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ; กรุงเทพฯ , ๔ ธ.ค.๒๕๔๙
8. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมจัดเวทีระดมความคิดเห็น ดังนี้เวทีระดมความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนและประชาสังคมภาคอีสาน ; อาคารขวัญมอ จ. ขอนแก่น , ๖ ธ.ค. ๒๕๔๙
9. เวทีระดมความคิดเห็นผู้นำองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนภาคเหนือ ; บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ , ๑๐ ธ.ค.๒๕๔๙
10. เวทีระดมความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชนที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ; กรุงเทพฯ , ๑๓ ธ.ค.๒๕๔๙
11. เวทีระดมความคิดเห็นในที่ประชุมเครือข่ายชุมชนปฏิรูปสังคมและการเมือง ; กรุงเทพฯ , ๒๗ ธ.ค.๒๕๔๙
12. เวทีระดมความคิดเห็นผู้นำ ๕ จังหวัดภาคใต้ ; โรงแรม ซีเอส. จ.ปัตตานี , ๑๐ ม.ค.๒๕๕๐

3. มีพรบ.สภาองค์กรชุมชนแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร?

1. ทำให้องค์ความรู้ชุมชนจัดการตนเองที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นชุดความรู้ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายนั้น ได้รับการรวบรวม และขยายผลออกไปสู่วงกว้างอย่างเป็นกระบวนการ นั่นหมายถึงรูปแบบ ทิศทาง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะเปลี่ยนจากการรอคอยให้คนอื่นทำให้ มาเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นคนคิดริเริ่ม และดำเนินการกันเองเป็นหลัก เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยึดเอาชุมชนเป็นแกนกลาง ชุมชนชาวบ้านมีบทบาทสำคัญมากกว่าบุคคลภายนอกนั่นเอง
2. กม.ฉบับนี้สนับสนุน ส่งเสริมให้ชุมชนชาวบ้านเป็นแกนกลางในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่ายกันในชุมชน สลายการสังกัดกรม กอง ลดลง ลดการจัดการที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลได้ด้วย เนื่องจากว่าสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นรวมของสถานการณ์ปัญหาของชุมชน และหาทางออกร่วมกัน
3. นโยบาย หรือกฎหมายที่ออกมาแล้ว และมีผลกระทบต่อชุมชน จะถูกกลั่นกรองผ่านความเห็นชอบของคนในชุมชน จะทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐ นายทุน ผู้มีอิทธิพลกับชาวบ้าน เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนจะทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และลงประชามติต่อโครงการพัฒนาในพื้นที่ตั้งแต่ต้น

4. บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร?

เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นสนับสนุน คัดค้าน กฎหมาย นโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนท้องถิ่นโดยผ่านเวทีสมัชชาองค์กรชุมชน
ที่ประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชน จะทำหน้าที่กลั่นกรอง ติดตาม ตรวจสอบกฎหมาย นโยบาย ของหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาอยู่ในชุมชนท้องถิ่น และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ความรู้ภูมิปัญญาบวกกับความรู้ภายนอก ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมพัฒนาในพื้นที่

5. บทบาทของสภาองค์กรชุมชนซ้ำซ้อนกับบทบาทสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่?

สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือสภาที่ประกอบด้วยตัวแทนของชาวบ้านที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดโยชน์กับคนในชุมชนท้องถิ่น เรียกว่าเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
สภาองค์กรชุมชนนั้นประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มองค์กรในชุมชน และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน เข้ามาทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่จำกัดจำนวนเรียกว่าเป็นระบบประชาธิปไตยแบบทางตรง ไม่มีอำนาจในการอนุมัติแผนงานงบประมาณ ไม่มีอำนาจในเชิงยับยัง ถอดถอด ยกเลิก แต่จะให้ความเห็นโดยการออกเสียงประชามติ ด้วยความรู้ภูมิปัญญา ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนจึงเป็นสภาที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานพัฒนา และปิดช่องโหว่ของระบบที่มีอยู่เดิมแล้ว จึงไม่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ซ้ำซ้อน แต่หนุนเสริมระบบเดิมให้สมบูรณ์มากขึ้น กล่าวคือทำหน้าที่คล้ายกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั่นเอง

6. สภาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยราชการใหม่ใช่หรือไม่?

สภาองค์กรชุมชนเป็นการรวมตัวกันของคนในท้องถิ่นด้วยจิตอาสา ด้วยความเคารพนับถือกัน ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการให้คุณให้โทษ มารวมกันตามกำหนดนัดเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็แยกย้ายกันไป การจัดประชุมสมัชชาอาจใช้สถานที่ของวัด โรงเรียน หรือที่ที่เหมาะสมตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น จึงไม่มีสำนักงาน ไม่มีสายบังคับบัญชาเชิงอำนาจเหมือนระบบราชการ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่การตั้งหน่วยราชการใหม่เพื่อลงไปดำเนินงานในพื้นที่ แต่เป็นการรวมกันของคนในชุมชนท้องถิ่นกันเอง โดยมีหน่วยงานราชการและหน่วยงานภายนอกเข้าไปหนุนเสริมมากกว่า

7. มีพรบ.กับไม่มีพรบ.ต่างกันอย่างไร?

ถ้าหากไม่มีพรบ. สภาองค์กรชุมชน แนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ก็จะมีรูปแบบเดิมๆ คือนักการเมืองเป็นกำหนดนโยบาย และให้หน่วยราชการนำไปปฏิบัติ เป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนารูปแบบเดียวแล้วใช้ร่วมกันทั้งประเทศ แนวทางการพัฒนาที่คนภายนอกมีความสำคัญมากกว่าคนภายใน จะยังคงอยู่ ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการพัฒนาที่ผ่านก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวทางการพัฒนาดังกล่าวล้มเหลว มีการจัดการงบประมาณซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองอย่างมาก ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน ช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น เกิดการทุจริตคอรัปชั่นกันมากมาย
ถ้าหากมีพรบ.สภาองค์กรชุมชน จะเกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานพัฒนาใหม่ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องมากกว่าหน่วยงานราชการ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาจึงมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น

8. ทำไมไม่แก้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นแทนการออกกฎหมายใหม่?

การปรับแก้กฎหมายเดิม จะกระทบกับกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเชิงผลประโยชน์ และอำนาจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิมจึงยากกว่าการเสนอกฎหมายใหม่
ประกอบกับเชื่อว่าหลักคิด ปรัชญาของกฎหมายแต่ละฉบับก็มีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน คือกฎหมายการปกครองชุมชนท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่ขณะนี้ ก็เหมาะสมที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับนักปกครอง ดังนั้นการแก้กฎหมายเก่าจะมาใช้เป็นเครื่องมือของชาวบ้านจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะให้เป็นเครื่องมือของชาวบ้านชาวบ้านก็ต้องเขียนกฎหมายเอง

9. พรบ.สภาองค์กรชุมชนจะก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขึ้นในพื้นที่หรือไม่?

สภาองค์กรชุมชน มีบทบาทและหน้าที่หนุนเสริมกลไกการทำงานที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อน ไม่การแย่งชิงบทบาทหน้าที่ เนื่องจากเป็นกลไกแห่งปัญญามากว่าอำนาจและผลประโยชน์ เป็นการทำงานแบบจิตอาสา ตรงกันข้ามกลับจะมีส่วนช่วยทำให้ความขัดแย้ง แตกแยกในชุมชนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาภายนอก ลดลงเสียด้วยซ้ำ

10. กฎหมาย พรบ.ฉบับนี้จะไปบังคับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการตัวเองของท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมแล้วหรือไม่

กฎหมาย พรบ. สภาองค์กรชุมชน เป็นกฎหมายสนับสนุน ส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นใดมีรูปแบบการจัดการตนเองที่เข้มแข็ง และมีเป้าหมายวัตถุประสงค์เดียวกับ พรบ. ฉบับนี้อยู่ก่อนแล้ว ก็จะได้รับการสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดการตนเองต่อเนื่องต่อไป ไม่ใช่ยกเลิกของเดิมแล้วเริ่มกันใหม่

11. ในเมื่อมีการปรับแก้ประเด็นสำคัญของสภาองค์กรชุมชนไปแล้ว พรบ.ยังมีความหมายอยู่อีกหรือ

ในร่างแรกๆ พรบ. สภาองค์กรชุมชน ระบุว่ามีบทบาทหน้าที่ในการ ติดตาม ตรวจสอบ ยับยั้ง ถอดถอน ยกเลิก โครงการหรือนโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น แต่หลายฝ่ายเห็นว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าว จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในชุมชนท้องถิ่นขึ้นได้หลายฝ่ายจึงเสนอให้ตัดออก อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการตนเองของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนนั้นยังคงอยู่ กล่าวคือหัวใจสำคัญของพรบ. สภาองค์กรชุมชน คือการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชนยังคงอยู่ ถึงแม้บทบาทหน้าที่ที่สำคัญบางส่วนจะถูกปรับแก้ไปแล้วก็ตาม

12. ถ้าไม่พรบ.สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนจะดำเนินการต่ออย่างไร

เครือข่ายองค์กรชุมชน มีความคิดความเชื่อที่ว่าหัวใจสำคัญของกระบวนพัฒนานั้นอยู่ที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ถ้าหากพรบ.ไม่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนการออกกฎหมาย ภายใต้ความคิดความเชื่อดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชนจะปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องจำนวน 202 ตำบลในนาม “สมัชชาสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท.)” และร่วมมือกับนักวิชาการศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ พร้อมๆ กันนี้ก็จะเคลื่อนไหวสนับสนุนกฎหมายเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนฉบับอื่นๆ โดยผ่านช่องทางนโยบายพรรคการเมือง เวทีสาธารณะ อื่นๆต่อไป

สาระสำคัญของร่างพรบ.สภาองค์กรชุมชน

สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....
...............................
ความนำ
เนื่องจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชน และการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ตลอดจนภาระด้านงบประมาณของรัฐ จึงได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามข้อเสนอของที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๒ และวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยที่ประชุมมีมติให้สภาองค์กรชุมชนเป็นสภาภูมิปัญญาที่มีพลังทางสังคม เป็นสภาคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือ/กระตุ้นให้องค์กรของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรองรับสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งเสนอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นฝ่ายวิชาการและเลขานุการของสภานั้นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ต่อมาจึงได้นำเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่ยังได้รับการโต้แย้งจากกระทรวงมหาดไทยในประเด็นอาจขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ปัจเจกชนมีสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ มิใช่สิทธิขององค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะและอาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คณะรัฐมนตรีจึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความสอดคล้องในทุกๆ ด้านแล้วจัดทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

สรุปสาระของร่างพระราชบัญญัติ
๑. หลักการและเหตุผล
ชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ
๒. วัตถุประสงค์
สภาองค์กรชุมชนให้มีลักษณะเป็นสภาทางภูมิปัญญาเพื่อให้มีอำนาจทางสังคมแทนอำนาจทางกฎหมาย เป็นสภาคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือ/สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อให้เป็นสภาที่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นโดยการระดมพลังทางปัญญาเกี่ยวกับส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นด้วยคนในชุมชนของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน
๒. เพื่อให้มีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๓. เพื่อผนึกกำลังและประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน
๔. สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และรองรับสิทธิตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....ในประเด็นสิทธิชุมชน และสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ตลอดจนแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

๓. นิยามศัพท์ตามกฎหมาย
“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน
“องค์กรชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีระบบการจัดการที่สมาชิกของชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนนั้น
“สภาองค์กรชุมชน” หมายความว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล สมาชิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสมาชิกสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี
“สมัชชาชุมชน” หมายความว่า การประชุมใหญ่ของภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพในชุมชน ซึ่งดำเนินการโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี

๔. โครงสร้างเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมาย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. .... ที่ได้ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย ๕ หมวด ๓๘ มาตรา สรุปได้ ดังนี้
๑. หมวด ๑ สภาองค์กรชุมชนตำบล (ร่างมาตรา ๑๙) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยประกอบด้วยสมาชิกสภาซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรในหมู่บ้านด้วยการเลือกกันเองของที่ประชุมใหญ่ในหมู่บ้านตามความเหมาะสม และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาโดยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ต่างๆ เช่น ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนในเขตพื้นที่ตำบล เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองรวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต การเมืองและสิ่งแวดล้อม จัดให้มีเวทีสมัชชาชุมชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนทุกระดับเกิดความเข้มแข็งจนสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสิทธิชุมชนและแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
๒. หมวด ๒ สภาองค์กรชุมชนจังหวัด (ร่างมาตรา ๒๕) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมองภาพรวมในระดับจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกสภาชุมชนท้องถิ่นตำบลๆละไม่เกินสองคน และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาด้วยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่น การเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดทำแผนชุมชนระดับจังหวัด และให้ความเห็น ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่างๆในระดับจังหวัด
๓. หมวด ๓ สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ (ร่างมาตรา ๓๐ ) เป็นสภาที่ใช้พลังทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมองภาพรวมมากกว่าหนึ่งจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัดๆละสองคน และสมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มาด้วยการสรรหาจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยมีอำนาจหน้าที่ โดยมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้สภาองค์กรชุมชนทุกระดับ การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและการเมือง รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต การเมืองและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
๔. หมวด ๔ การส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน (ร่างมาตรา ๓๓) โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล สภาองค์กรชุมชนจังหวัดและสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ และรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของสภาองค์กรชุมชน
๕. หมวด ๕ การยุบและการเลิกสภาองค์กรชุมชน(ร่างมาตรา ๓๕และมาตรา ๓๖)
๑. การยุบสภาองค์กรชุมชน ในกรณีปรากฏว่าสภาองค์กรชุมชนแห่งใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ อันก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติ ให้สภาองค์กรชุมชนจังหวัดมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนตำบล หรือให้สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งยุบสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ โดยจัดให้มีการเลือกกันเองใหม่หรือเสนอชื่อสมาชิกคนใหม่ภายในหกสิบวัน
๒. การเลิกสภาองค์กรชุมชน ในกรณีปรากฏว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลมีสมาชิกน้อยกว่าร้อยละหกสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน ให้มีการจัดประชุมสมัชชาชุมชนทั้งตำบลมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุมให้เลิกสภาองค์กรชุมชนตำบลแห่งนั้นได้ หรือกรณีสภาองค์กรชุมชนจังหวัดมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าร้อยละสามสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนให้สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติสั่งเลิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หรือกรณีสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าร้อยละสามสิบติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนให้คณะรัฐมนตรีสั่งเลิกสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติได้ และให้มีการเพิกถอนการรับรองสถานภาพของสภาองค์กรชุมชนแห่งนั้นโดยไม่ชักช้า
๖. บทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา ๓๗และมาตรา ๓๘) ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสภาชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ ให้มีคณะกรรมการจัดตั้งสภาชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดในกรณีที่ยังไม่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนจังหวัด

----------------------------------------------